ปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นผ่านแอปโทรศัพท์มือถือ เพียงเสี้ยววินาทีเดียวคุณก็สามารถโอนเงินไปยังจุดหมายปลายทางได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง มิจฉาชีพ ก็ฉวยโอกาสแห่งความสะดวกสบายนี้เพื่อหลอกเงินของคุณเข้ากระเป๋าของพวกเขาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการโทรมาให้โอนเงินไปให้โดยอ้างเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือหลอกให้ดาวน์โหลดแอปที่สามารถดูดเงินของคุณได้ เหตุการณ์เหล่านี้ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ มีคนโดนหลอกหลวงอยู่ทุกวัน

สบายใจ แคปปิตอล จึงได้รวบรวมข้อมูลมาฝากว่า หากคุณโดนมิจฉาชีพหลอกเงินหรือโดนแอปดูดเงินแล้วควรทำอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น

วิธีที่ มิจฉาชีพ และแอปดูดเงิน เพื่อใช้หลอกเอาเงิน

  1. มิจฉาชีพจะโทรเข้ามาแจ้งว่า คุณติดหนี้บัตรเครดิต ทำผิดกฎหมาย เสนอเงินกู้หรือ เสนองานพิเศษให้ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้คุณโอนเงินไปเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมผิดกฎหมายหรือประกันตัว เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินให้กับญาติหรือครอบครัว เพื่อดำเนินการขอเปิดวงเงินสินเชื่อ หรือเพื่อสมัครทำงานพิเศษ​

2. ถ้าไม่เป็นการโทรเข้ามา ก็จะมีส่งข้อความในแชต หรือ SMS ให้คุณกดลิงก์เพื่อกรอกข้อมูลส่วนตัวของคุณ เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต เพื่อยืนยันตัวตน หรือเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่มิจฉาชีพหลอก

3. ส่งลิงก์ผ่านแชต หรือ SMS โดยใช้ข้อความเชิญชวนต่าง ๆ เพื่อให้กดลิงก์ดาวน์โหลดแอปต่าง ๆ เช่น หลอกว่าแอปธนาคารมีการอัพเดตใหม่ แจ้งว่าคุณไปคอมเมนท์ด่าเขาเสียๆ หายๆ หรือมีข่าวเกี่ยวกับญาติของคุณ ให้กดลิงก์เข้าไปดูข่าว จากนั้นก็ฝังมัลแวร์หรือ ส่งคำขอเพื่อเข้าควบคุมโทรศัพท์มือถือของคุณแล้วโอนเงินจากแอปธนาคารของคุณ

มิจฉาชีพ โทรมาหลอกเอาเงิน

กฎเหล็ก ป้องกันไม่ให้โดนแอปดูดเงินหลอก

กฎเหล็กที่จะช่วยกันคุณไม่ให้โดนมิจฉาชีพหลอกก็คือ…มีสติตลอดเวลา ห้ามตื่นตระหนก ห้ามเร่งรีบ ไม่ว่ามิจฉาชีพจะพูดอะไร บอกให้ทำอะไร คุณก็ห้ามทำตามในทันที ท่องเอาไว้ว่าทุกอย่างรอได้ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเสมอ

เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้จะพยายามหว่านล้อมให้คุณยอมบอกข้อมูลส่วนตัว ทำให้คุณกลัวหรือให้ความหวัง ว่าทำสิ่งนี้แล้วชีวิตจะดีขึ้น ทำแบบนั้นจะง่ายกว่า เพื่อให้คุณยอมทำทุกอย่างตามที่พวกเขาต้องการ เทคนิคคือ บอกว่าหากไม่ทำตอนนี้จะพลาดโอกาสหรือจะเรื่องวุ่นวายมากมายตามมา หากไม่รีบโอนเงินตอนนี้คุณอาจโดนคดีอาญา หรือญาติที่อยู่ห้องฉุกเฉิกจะไม่ได้รับการผ่าตัด ต้องทำเดี๋ยวนี้ ทันที เพื่อกระตุ้นให้คุณรีบและตัดโอกาสไม่ให้คุณมีเวลาคิดทบทวนถึงความสมเหตุสมผลต่าง ๆ

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อคุณได้รับสายจากมิจฉาชีพ (ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาไม่บอกคุณหลอกว่าเป็นมิจฉาชีพ) ก็คือ คุณต้องตั้งสติฟังสิ่งที่พวกเขาพูดและวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุและผล และไม่ทำตามที่พวกเขาบอกทันที หากสงสัยว่าเรื่องที่มิจฉาชีพพูดมาเป็นเรื่องจริงหรือไม่ คุณก็ควรนำเรื่องนั้นไปปรึกษาเพื่อน ญาติ หรือตำรวจ หรือโทรตรวจสอบกับต้นทางซึ่งมิจฉาชีพอ้างว่าเป็นโดยทันที เช่น หากอ้างว่าเป็นตำรวจ คุณก็ควรติดต่อกลับไปสอบถามทางสถานีตำรวจ หากว่าโทรมาจากห้องฉุกเฉินก็ให้โทรกลับไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลเหล่านั้นเสียก่อน

ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หากโดนมิจฉาชีพหลอก

หากว่าคุณโดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน หลอกให้ดาวน์โหลดแอปดูดเงินและดูดเงินในแอปธนาคารของคุณ สิ่งที่คุณควรทำโดยทันที มีดังนี้

  1. เปลี่ยนรหัสแอปธนาคารต่าง ๆ ใหม่หมดในทันที ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุกแอป
  2. ติดต่อแจ้งธนาคารเพื่ออายัดการทำธุรกรรมต่าง ๆ
  3. ปรับวงเงินทำธุรกรรมที่สามารถใช้ได้ต่อวันของบัญชีต่าง ๆ ในแอปธนาคารให้ต่ำที่สุด เพื่อลดความเสี่ยง หรือตั้งค่าเป็น 0 บาท เพื่อหยุดไม่ให้มีการใช้จ่ายผ่านแอปหรือบัตรเครดิตได้อีก แล้วเมื่อต้องการจะใช้ค่อยปรับวงเงินใหม่ก่อนใช้
  4. รวบรวมข้อมูลต่างๆ พร้อมหลักฐานการโอนเข้าแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน หรือแจ้งที่เว็บไซต์
  5. นำหลักฐานต่างๆ ติดต่อธนาคารเพื่อขออายัดบัญชีของมิจฉาชีพ
  6. รีเซตมือถือแบบ Factory Reset ซึ่งจะเป็นการตั้งค่าเครื่องแบบเอาทุกอย่างออกไปทั้งหมดให้มือถือกลับไปเป็นเหมือนครั้งแรกที่ผลิตออกมาจากโรงงาน เพื่อเอาแอปทั้งหมดออกไปเนื่องจากเราไม่อาจรู้เลยว่าแอปไหนคือแอปอันตราย แอปไหนมีมัลแวร์ (Malware) แฝงตัวอยู่ ดังนั้นการรีเซตโทรศัพท์มือถือใหม่ทั้งหมดจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

แอปดูดเงิน หลอกสแกนเงิน

วิธีป้องกันไม่ให้โดน มิจฉาชีพ หรือโดนแอปดูดเงินหลอก

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเจอมิจฉาชีพโทรมาหลอกหลวง ไม่เคยเจอลิงก์แปลกๆ หรือข้อความแปลกๆ ไม่เคยดาวน์โหลดแอปแปลกๆ คุณก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้จะเปลี่ยนวิธีและหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาหลอกเราเสมอ ดังนั้นคุณจึงควรอัพเดตข้อมูลข่าวสารและระวังตัวอยู่เสมอ และนี่คือสิ่งที่คุณควรปฏิบัติตามเพื่อกันไม่ให้มิจฉาชีพเข้าใกล้เงินของคุณได้  

  1. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลหรือแอปที่ไม่รู้จักหรือไม่น่าเชื่อถือ
  2. ไม่โหลดแอปจากลิงก์แปลกๆ ที่ส่งมาใน LINE แชตต่างๆ SMS หรือบนเพจแปลกๆ
  3. ไม่ดาวน์โหลดแอปนอก App Store หรือ Google Play Store
  4. อ่านข้อมูล ข้อตกลง และเงื่อนไขของแอปอย่างละเอียด เพื่อให้รู้ว่าแอปจะเก็บข้อมูลหรือเข้าถึงมูลใดของคุณบ้าง
  5. อ่านรีวิวแอปที่จะโหลด หรือเอาข้อความที่ส่งมาไปค้นหาบน Google เพื่อดูว่า มีคนมารีวิวว่าเป็นแอพปกติ หรือแอปดูดเงินหรือเปล่า 
  6. อัพเดตแอปธนาคารให้เป็นเวอร์ชันใหม่สุดเสมอ
  7. ไม่อนุญาตให้แอปต่างๆ เข้าถึงการช่วยเหลือพิเศษหรือ Accessibility เนื่องจากมิจฉาชีพจะเข้าทำการควบคุมเครื่องมือถือของคุณได้อย่างสมบูรณ์
  8. ไม่อนุญาตให้ใครหรือบุคคลใดเข้ามาใช้ระบบ Remote Access หรือการเข้าควบคุมจากทางไกล
  9. ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ทำการปลดล็อกด้วยวิธี Root หรือ Jailbreak
  10. ยกเลิกการผูกบัญชีผ่านช่องทางต่างๆ และยกเลิกการผูกบัญชีบัตรเครดิตหรือเดบิตกับเว็บไซต์หรือแอปต่างๆ
  11. เมื่อใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ควรปิดรหัส 3 ตัวหลังบัตรเอาไว้ไม่ให้ใครรู้ อาจติดสติกเกอร์ปิด หรือขีดทับด้วยปากกาเมจิกแบบลบไม่ได้
  12. หากเข้าใช้งานเว็บไซต์ธนาคาร ให้สังเกตชื่อเว็บไซต์ต้องขึ้นต้นด้วย https:// และตามด้วยชื่อเว็บไซต์จริงของธนาคาร
  13. หมั่นตรวจสอบยอดเงินในบัญชีธนาคารอย่างสม่ำเสมอ หรือรับการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมต่าง ๆ จากธนาคาร หากมีการทำรายการที่ผิดปกติ ให้รีบติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีและทำการตรวจสอบโดยเร็ว

    สบายใจ แคปปิตอล หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับมิจฉาชีพที่หวังจะขโมยเงินของคุณหรือดูดเงินผ่านแอปธนาคารของคุณได้ อย่าลืมว่าสติคือสิ่งสำคัญที่สุด และการติดตามอัพเดตข่าวสารใหม่ ๆ เพื่อให้รู้ทันมิจฉาชีพก็สำคัญเช่นกัน